Wednesday 1 July 2009

จดหมายถึงหอยทาก



10 กันยายน 2549 ผมได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจากเพื่อนสนิท (ที่ผมทึกทักเองว่าสนิท) จากแดนไกล ... จดหมายที่ส่งไล่หลังผมมา สามเดือนหลังจากที่เราเจอกันในงานงานหนึ่ง

“สุดทางหอย” – นั่นคือชื่อเรื่องของจดหมายนั้น

สารภาพด้วยเกียรติลูกเสือสามัญว่า ครั้งแรกที่ได้อ่านจดหมาย ผมไม่รู้ว่าเพื่อนผมอยากจะสื่อถึงอะไร เลยได้หาญกล้าโทรไปถามเจ้าของเรื่อง จนได้รู้ความหมาย แต่ก็ไม่ได้ “ฝัง” อยู่ในใจสักทีเดียว

เกือบสามปีแล้วที่ผมไม่ได้กลับไปอ่านจดหมายฉบับนั้น แล้ววันนี้ผมก็ได้ “งม(เรื่องของ)หอย” กลับมาอ่านอีกครั้ง ความรู้สึกที่มีต่อจดหมายนั้นเปลี่ยนไป ... ผมเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเปลี่ยนไปอย่างไร

ถ้าให้ผมเดา ... “การเดินทางแบบหอยเร่ร่อน” กระมัง คือเหตุผลที่เปลี่ยนความคิด ความรู้สึกที่มีต่อจดหมายนั้นไป

เวลาเร็วเหมือนติดปีก ... สามปีผ่านไปเร็วจริง

ณ วันนี้ ตาผมเริ่มพร่ามัว มอง “ทางของหอยทาก” ที่เคยเดินนำ ไม่ค่อยเห็น ... มันเลือนลางและห่างไกลจากตัวผมเข้าไปทุกที ... ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่ง ผมเองก็เป็น “หอย” ตัวหนึ่งในอีกหลาย ๆ ตัว ที่เดินเร่ร่อนตามทางเดินของ “หอยทาก” นั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ คงเป็นเพราะ “อัตถิภาวะ” ของหอยทากนั้นยังคงมีอยู่ หรือเพิ่งจะเลือนหายไปได้ไม่นาน

“เรารักเพื่อนที่เพิ่งตายจากเราไป เราบูชาครูที่เพิ่งถูกฝัง สั่งสอนเราไม่ได้แล้ว เรากล่าวคำชมเชย ซึ่งเขาอาจปรารถนาจะได้รับมาตลอดเวลาที่มีชีวิตอยู่ คุณรู้ไหมว่า ทำไมเราจึงยุติธรรมและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนตายได้มากกว่าคนเป็น เหตุผลมันแสนจะธรรมดา ก็เพราะเราหมดพันธะกับเขาแล้วน่ะซี”

สาบานได้ ข้อความข้างบนไม่ใช่คำพูดของผมแน่นอน ผมคัดมาจากตอนหนึ่งของนวนิยายเรื่อง “มนุษย์สองหน้า” (La Chute) ของเพื่อนรักผมเอง ... อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) คนเดียวกับเจ้าของนวนิยายเรื่อง “คนนอก” (L'Étranger/The Stranger/The Outsider)


“ชีวิตที่เร่ร่อน” ไร้ “คนนำทาง” ย่อมทำให้การเดินทาง “ไร้” จุดหมายปลายทางเช่นกัน

แต่ทำอย่างไรได้ล่ะ ก็ในเมื่อ “คนนำทาง” ทุกคนต่างก็เคยผ่าน “ชีวิตที่เร่ร่อน” มาแล้วกันทั้งนั้น ... และ “สุดท้าย” เขาก็เดินมาจน “สุดทาง” ด้วยตัวเขาเอง

ก็เหลือแต่ “พวกเร่ร่อน” นี่แหละ ที่ยังคงต้องหาทางสุดถนนเส้นนี้ให้เจอ

ไม่รู้สิ ผมว่า ผมเห็นรอยยิ้มและได้ยินเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ของ “หอยทาก” มาแต่ไกล
-----------------------------------------------------------------------------------------------------

Sunday 15 February 2009

Best in Times



คุณเป็นคน "ความจำปลาทอง" หรือเปล่า?

เมื่อเช้า แปรงฟันอาบน้ำหรือยัง?
อาทิตย์ที่แล้ว กินข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวไปกี่จาน?
เดือนก่อน ค้างค่าบัตรเครดิตหรือเปล่า่?
ปีที่แล้ว กลับบ้านไปหาพ่อแม่กี่หน?
.
.
.
แล้วคุณเคยลืม/จำใครบางคนมั้ย?

คนที่บ้าบอ ทำให้เราหัวเราะได้เวลาเศร้าเสียใจ
คนที่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูดทั้งหมด แต่ก็ตั้งใจฟังจนจบ
คนที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่เคียงข้าง ร่วมทุกข์แบ่งสุข
คนที่ครั้งหนึ่งเคยให้สัญญาว่าจะไม่ทิ้งกันและกัน ...
แต่ก็ต้องพรากจากกัน
.
.
.
คนที่คุณเรียกว่า "รักครั้งแรก"

-----------------------------------------------------------------------

บ่อยครั้งที่ผมเจอคำถามเดิม ๆ จากคนรอบข้าง

"ไปดูหนังกับใคร? คนเดียวหรอ? เฮ้ยไม่เหงาแย่หรอวะ?"
"ไม่พาใครกลับมาบ้านบ้างล่ะลูก?"
"เมิงชอบใครมั่งป่าวเนี่ย ไม่ลองคบใครสักคนดูวะ เปิดใจบ้าง"
.
.
.
ผมมักจะเลี่ยงคำถามเหล่านั้น ด้วยประโยคเดิม ๆ เช่นกัน

"จะไปดูกะใครได้ละพี่ ก็คนที่อยากดูด้วยยืนข้าง ๆ พี่ไงล่ะ ฮา ๆ"
"ลำพังเอาตัวเองกลับมาถึงบ้านให้แม่เห็นหน้า ก็ดีถมไปแล้ววววว"
"สงสัย เมียกรูยังวิ่งเล่นอยู่บนสวรรค์ ... ลงมาเกิดสะทีสิจ๊ะ นางฟ้า"
.
.
.
ภาพรุ่นพี่ที่ทำงานร้องไห้เศร้าเสียใจ เพราะเลิกกับแฟน
ภาพคนเคยรักกันในจอสี่เหลี่ยม กลายเป็นคนแปลหน้าซึ่งกันและกัน
ภาพคนที่ระเบิดอารมณ์และคำพูดใส่กัน ย้อนกลับไปไม่นาน ทั้งสองเคยจูงมือกัน
.
.
.
ภาพเหล่านี้ละมั้ง ที่ทำให้ผมใช้คำตอบเดิม ๆ ทุกครั้งกับคำถามเดิม ๆ
จริง ๆ แล้ว ผมมันคนขี้ขลาดต่างหาก ที่หาเกราะป้องกันตัวเอง
ไม่ให้เจ็บทั้งตัวและใจ เหมือนภาพที่เห็นจากคนรอบตัว
.
.
.
มันไม่ผิดใช่มั้ย ที่จะยินดีให้ใครต่อใครเรียกว่า คนขี้ขลาด ... เพียงเพราะว่า
ผมยังไม่ลืมใครคนนั้น และ ไม่กล้าพอที่จะจำภาพของเขา ... เป็นครั้งสุดท้าย



ยังไม่ตอบผมเลยว่า คุณเป็นคน "ความจำปลาทอง" หรือเปล่า?


--------------------------------------------------------------------------------------



จะได้ไม่ลืมกัน - เบิร์ด ธงไชย